แก่งกระจาน ขึ้นมรดกโลก ความหวังที่คนไทยรอคอย
เรื่องราวของ "เขาพระวิหาร" ที่เป็นกรณีอื้อฉาวระหว่างไทยกับกัมพูชา กำลังเข้มข้นอยู่ในเวลานี้ ผลการเจรจาหรือตอนจบเป็นอย่างไร...ต้องติดตามแบบไม่กะพริบตา
และก่อนจะเข้าไคลแมกซ์ถึงจุดที่ว่า คนไทยมีประเด็นเกี่ยวกับมรดกโลกขึ้นมาให้ถกเถียงกันอีกแล้ว เป็นเรื่องของ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" พื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ที่ถือเป็นศูนย์รวมของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหลากชนิด เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวผ่าน
กลุ่มป่าแก่งกระจานกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการนำเสนอเพื่อเป็นมรดกโลก เป็นการนำเสนอต่อ องค์การยูเนสโก ซึ่งในปัจจุบันมีมรดกโลกทั้งหมด 830 แห่ง ใน 138 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 679 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 174 แห่ง และอีก 25 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท
ส่วนในประเทศไทยนั้นมีมรดกโลกอยู่ทั้งสิ้น 8 แห่ง และถ้าหากบ้านเราจะมีมรดกโลกเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดี ฉะนั้น "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" จึงเป็นอีกความหวังในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บนพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ กลุ่มป่าแก่งกระจานมีการกระจายตัวของเขตภูมิพฤกษ์ รวมถึงสภาพปัจจัยทางสิ่งแวด ล้อมที่เอื้ออำนวย ทั้งสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ จึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ
และยังมีระบบนิเวศป่าบกถึง 5 ประเภท คือ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แก่งกระจานกลายเป็นศูนย์รวมของพันธุ์พืชกว่า 1,199 ชนิด และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถึง 720 สายพันธุ์
ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมที่ประเทศไทยจะเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทาง ธรรมชาติ โดยเสนอผ่านเกณฑ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
"สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้พื้นที่แห่งนี้ได้เป็นมรดกโลก คือการค้นพบ จระเข้น้ำจืด ที่เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 3 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ก่อนหน้านี้ยังไม่มั่นใจเท่าไหร่นักว่าจะมีจระเข้ เพราะพบเห็นเพียงร่องรอย แต่ในภายหลังเราได้พบตัวและยังมีการวางไข่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมาก" อาจารย์สาวกล่าว
อาจารย์ดรรชนี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เอกลักษณ์ของระบบนิเวศของป่าแก่งกระจานก็ไม่แพ้ที่ใดในเอเชีย พื้นที่แห่งนี้ยังถูกประกาศให้เป็น เขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่ง รวมถึงเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก อีกด้วย
"มั่นใจว่าหากมีการเสนอป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก น่าจะมีโอกาส 70-80% ที่จะได้รับเลือก"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจารย์สาวแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กังวล นั่นคือการให้ความรู้ความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับจระเข้
"ชาวบ้านอาจจะทำร้าย หรือเข้าไปรบกวนจระเข้ โดยกระทำลงไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว พบเห็นร่องรอยการมาตั้งแคมป์บริเวณที่อยู่อาศัยของจระเข้ ซึ่งเมื่อจระเข้รู้สึกว่าถูกรุกราน อาจทำให้ย้ายที่อยู่ไปจนถึงหยุดการผสมพันธุ์นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ได้"
อีกทั้งสิ่งที่อาจารย์สาวพบ คือมีการขโมยไข่จระเข้ไปขายตามใบสั่ง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้บางทีไม่อยากเปิดเผยออกไป
สำหรับขั้นตอนในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก อาจารย์ดรรชนีอธิบายว่า สิ่งแรกที่ต้องจัดทำ คือ เอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อส่งให้กับทางยูเนสโกพิจารณา เป็นการแสดงเจตจำนงว่าประเทศไทยต้องการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจากทางยูเนสโก เขาก็จะอนุญาตให้ส่งแฟ้มข้อมูล (Nomination File) เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันตัดสินใจอีกที ว่าพื้นที่แห่งนี้มีคุณค่ามากพอที่จะเป็นมรดกโลกหรือไม่
"เอกสารที่กล่าวถึงนี้ต้องใช้เวลาในการรวบรวมทั้งสิ้น 1 ปี และเวลานี้เอกสารได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมให้คณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติพิจารณา แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาได้เร็วหรือช้า แต่เวลานี้น่าจะเริ่มต้นได้แล้ว ดังนั้น ความคาดหวังของเราคือการส่งเอกสารนำเสนอให้ทันเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์ของ แต่ละปี ซึ่งจะต้องมีการเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2010"
"อยากบอกว่ายูเนสโก สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญและจับตามองมาก คือการให้ความสำคัญกับพื้นที่ของคนในท้องถิ่นและคนไทยทั้งประเทศ เพราะเขาต้องการทราบว่าการที่เราขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น คนไทยส่วนใหญ่อยากจะได้จริงหรือเปล่า รวมถึงมีการรับรู้และเห็นชอบมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดการ เพราะถ้าพื้นที่ดีมากแต่การจัดการไม่ดี การรักษาให้คงอยู่ก็ทำได้ยาก"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น